Logo CU D4S

Circular Design Contest: Redesigning Tata Tiscon steel residue

Circular Design Lab

บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้ริเริ่มแนวคิดและความตั้งใจที่นำเศษเหล็กที่เหลือจากกระบวนการตัดและดัดเหล็กในโรงงานมาเป็นวัสดุที่ต่อยอดให้เกิดประโยชน์และนำสู่ตลาดได้ แทนการนำไปรีไซเคิลใหม่ สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นส่วนสำคัญของการส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีนโยบายสนับสนุนให้นิสิต นักศึกษา คณาจารย์ และบุคคลทั่วไป ได้มีโอกาสในการเรียนรู้เกี่ยวหลักการออกแบบภายใต้แนวคิดของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Design) จึงเป็นที่มาของโครงการประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์เศรษฐกิจหมุนเวียนจากเศษเหล็กเส้นทาทาทิสคอนขึ้น โดยมี CUD4S เป็นผู้ประสานงานของโครงการตั้งแต่เริ่มต้นจนสัมฤทธิ์ผล

วัตถุประสงค์ของโครงการฯ คือ เพื่อสนับสนุนแนวคิดการประยุกต์ใช้เศษวัสดุก่อสร้างเหลือทิ้งมาใช้เป็นการออกแบบโครงสร้างของผลิตภัณฑ์ ให้เป็นประโยชน์ภายใต้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ตลอดจนเกิดการเรียนรู้การออกแบบด้วยหลักการเชิงโครงสร้างซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตร์

โดยโครงการนี้จัดขึ้นได้ นอกจากจะได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ทาทาสตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่ได้ให้ความอนุเคราะห์เนื้อหาและเงินรางวัลสำหรับผู้ชนะการประกวดแล้ว ผศ. ดร.ลาภยศ ประสิทธิโศภิน อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอาจารย์ผู้สอนประจำโครงการ และนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับชั้นปีที่ 1 ในรายวิชา Structural Mechanics in Architecture ก็เป็นส่วนสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จของโครงการ

ก่อนเริ่มกิจกรรมการประกวดแบบ ได้มีการจัดบรรยาย 3 ครั้ง ในวันที่  31 ตุลาคม และ 7 กับ 14 พฤศจิกายน 2566 ในส่วนของการนำเสนอผลงานของกลุ่มนิสิตที่เข้ารอบและการประกาศรางวัลผู้ชนะการประกวดแบบ จัดขึ้นในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งรางวัลแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทผลงานขนาดเล็ก น้ำหนักต่อชิ้นไม่เกิน 10 กิโลกรัม และประเภทผลงานขนาดใหญ่ น้ำหนักต่อชิ้นตั้งแต่ 10 กิโลกรัมขึ้นไป รวมมูลค่า 35,000 บาท

นิสิตในรายวิชาฯทั้งหมด 178 คน เข้าร่วมโครงการและจัดส่งผลงานเข้าประกวดแบบทั้งหมด 74 ผลงาน ซึ่งแม้จะมีกลุ่มนิสิตที่ชณะได้รับรางวัลจากกรประกวดแบบจำนวนหนึ่ง แต่ทุกคนล้วนได้รับประสบการณ์และเห็นกระบวนการในการนำโจทย์จากอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง มาลองแก้ปัญหาด้วยการออกแบบด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีศักยภาพและสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในด้านต่าง ๆ ได้

ซึ่งทั้งหมดนี้สอดคล้องความตั้งใจของ CU D4S ที่ต้องการสนับสนุนและสื่อสารกับนิสิตและคณาจารย์ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ว่า องค์ความรู้ด้านการออกแบบในชั้นเรียนนั้นมีมูลค่า สามารถส่งผลสู้สังคมให้ยั่งยืนขึ้นในรูปแบบของธุรกิจได้ และ CU D4S เองก็สามารถเข้ามาเป็น accelerator ในชั้นเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้ในรูปแบบของการประกวดแบบได้ด้วยในทางหนึ่ง ซึ่งก็สามารถส่งต่อผลลัพธ์ทางสังคมได้อย่างรวดเร็วด้วยการทำงานในรูปแบบเอกชนนั่นเอง

See Our Work

Latest Projects

Scroll to Top