Logo CU D4S

Essence and Adaptation of Japanese Wood Architecture

Architectural and Design Discoverty Plus (ADD+) : Sustainable buildings

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับบริษัท Miyagawa Koki Co., Ltd. บริษัท Taiheiyo Design Office Co., Ltd., ศูนย์ออกแบบเพื่อสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU D4S) และบริษัท The Global Design Academy (GDA) ได้จัดโครงการอบรมหลักสูตร “Adaptation + Essence of Japanese wooden Architecture” ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 9 ธันวาคม โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 21 คนด้วยกัน  
 
หลักสูตรอบรมและ workshop สถาปัตยกรรมไม้ 9 วัน ณ ประเทศญี่ปุ่นนี้ ได้รับการออกแบบโดยคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบที่ยั่งยืนและสถาปัตยกรรมจากไม้จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างงานไม้จากบริษัท Miyagawa Koki ประเทศญี่ปุ่น โดยทีมวิทยากรทั้งหมดประกอบด้วย

1. ศาสตราจารย์ ดร.อรรจน์ เศรษฐบุตร  
2. อาจารย์ ดร.สริน พินิจ  
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จักรพร สุวรรณนคร  
4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เทิดศักดิ์ เตชะกิจขจร  
5. คุณโยจิ ฮาชิซุเมะ President บริษัท Taiheiyo Design Office Co., Ltd.  
6. คุณเคโกะ มิยากาวะ Director จากบริษัท Miyagawa Koki Co., Ltd. 

การอบรมเริ่มด้วย Lecture Series ซึ่งเป็นการบรรยายทั้งหมด 4 ครั้ง ในวันที่ 1, 8, 15 และ 22 พฤศจิกายน 2566 ณ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจบทบาทของการใช้ไม้เป็นวัสดุหนึ่งในการส่งเสริมสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืน (Sustainable Architecture) และพื้นฐานการก่อสร้างสถาปัตยกรรมที่สร้างจากไม้ ทั้งในแบบของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น (Thai and Japanese Wooden Architecture) โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์สรายุทธ ทรัพย์สุข คณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานบรรยาย และมอบของที่ระลึกให้แก่คณาจารย์ คณะผู้บริหารและวิทยากรจากทางบริษัทของประเทศญี่ปุ่น

ทั้งนี้ การบรรยายเรื่อง “Sustainable Wooden Architecture” จัดขึ้นในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 และการบรรยายในหัวข้อเรื่อง “Japanese Wood Construction” ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 ได้เปิดให้กับบุคคลภายนอกที่มีความสนใจเข้าร่วมฟังการบรรยายเพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับสาธารณะและมีผู้ให้ความสนใจมากมาย

และระหว่างวันที่ 3-9 ธันวาคม 2566 ผู้เข้าร่วมโครงการพร้อมทีมงานได้เดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น เยี่ยมชมสถานที่ที่น่าสนใจต่าง ๆ ในเมืองโตโยฮาชิและกรุงโตเกียวเป็นการศึกษาดูงาน รวมถึงอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการออกแบบและก่อสร้างด้วยข้อต่อในงานไม้จากการปฏิบัติจริง ซึ่งทางบริษัท Miyagawa Koki ได้มอบสิทธิพิเศษในการเรียนรู้แนวทางของอุตสาหกรรมด้านการก่อสร้างสถาปัตยกรรมที่สร้างจากไม้ที่เป็นองค์ความรู้ที่พิเศษ รวมถึงเปิดโอกาสให้ทีมจากประเทศไทยเข้าเยี่ยมชมอุตสาหกรรมการผลิตและออกแบบผลิตภัณฑ์ไม้ของบริษัทเอง ที่มีความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีการออกแบบผลิตภัณฑ์จากไม้เป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย 

โครงการได้สิ้นสุดลงด้วยความสำเร็จเป็นอย่างดี เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับประสบการณ์การวางผังพื้นฐานจากงานสถาปัตยกรรมในประเทศญี่ปุ่น ที่เชื่อว่าจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสถาปัตยกรรมไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความเข้าใจในไม้ชนิดต่าง ๆ ที่เป็นวัตถุดิบในการออกแบบและก่อสร้างงานสถาปัตยกรรม รวมถึงเทคนิคการออกแบบข้อต่อไม้ การใช้เครื่องมือขั้นสูงในกระบวนการ ตลอดจนโอกาสการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมก่อสร้างสถาปัตยกรรมจากไม้

See Our Work

Latest Projects

Scroll to Top